คลิปเสียง- สละมรดก ? ไม่ช่วย ‘พิธา’ รอดหุ้นไอทีวี

คลิปเสียง-  สละมรดก ?
ไม่ช่วย ‘พิธา’ รอดหุ้นไอทีวี
.
ขณะนี้สังคมกำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับ ‘รายการประชุม’ ผู้ถือหุ้นไอทีวี กับ ‘คลิปเสียง’ ในที่ประชุมที่ถูกปล่อยออกมาจากสื่อบางสำนัก ซึ่งมีเนื้อหาที่ตรงไม่กัน 
.
เนื้อหาคือ มีผู้ถาม ‘คิมห์ สิริทวีชัย’ ประธานคณะกรรมการบริษัท ไอทีวี ว่า “มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีหรือไม่ครับ” 
โดยในคลิป ‘คิมส์’ ระบุว่า “ตอนนี้ บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ” 
.
ขณะที่เนื้อหาในรายงานการประชุม เขาตอบว่า “ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”
.
โดยฝั่งกองเชียร์พรรคก้าวไกล รีบประกาศเป็นชัยชนะ โดยหยิบเอาคลิปดังกล่าวมาอ้างว่า เป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะไอทีวีไม่ได้ทำสื่อแล้ว พร้อมกับตีประเด็นเรื่องรายงานการประชุมเท็จ
.
แต่ดูเหมือนสังคมจะผิดประเด็นไป เพราะไม่ว่ารายงานการประชุม หรือคลิปเสียง จะ ‘จริง’ หรือ ‘เท็จ’ เพราะสิ่งที่จะบอกได้ว่า ‘ไอทีวี’ ยังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ มีองค์ประกอบหลายอย่างที่องค์กรตรวจสอบจะไปวินิจฉัย ไม่ได้มีแค่เรื่องนี้ แต่ยังมีเรื่องการจดทะเบียนวัตถุประสงค์ของบริษัทที่ระบุชัดว่า ทำเกี่ยวกับสื่อ ยังไม่ได้มีการยกแจ้งยกเลิก
.
และแม้ ‘ไอทีวี’ จะไม่ได้มีการเผยแพร่ออกอากาศ แต่ยังต้องไปดูว่า บริษัทยังมีการดำเนินกิจการอื่นๆ อีกหรือไม่ โดย ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ ให้สัมภาษณ์ในวันไปยื่นหลักฐานเพิ่มเติมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า งบการเงินในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีการระบุไว้ ว่ามีการทำธุรกิจสื่อตั้งแต่เดือน ก.พ.ปี 66 และจะรับรู้รายได้จากการทำสื่อดังกล่าวในไตรมาสที่ 2 พร้อมแนบหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีบางส่วน ปี 61 และ 62 โดยมีแผนธุรกิจอย่างละเอียด
.
‘สื่อ’ ในทีนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นโทรทัศน์เสมอไป แต่มีอีกหลายแขนง ทั้งโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ปริ๊นซ์ ในรูปแบบต่างๆ
.
นอกจากนี้ ‘เรืองไกร’ ยังชี้ด้วยว่า รายงานการประชุมวาระท้ายที่เกี่ยวกับการซักถามของการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เม.ย.66 ที่มีการถามคำถามเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของไอทีวี ไม่เกี่ยวข้องกับคำร้องของตนเอง
.
อีกประเด็นสำคัญคือ หลักฐานที่ ‘เรืองไกร’ นำไปยื่นเพิ่มเติมคือ เอกสารที่ระบุว่า ‘พิธา’ ได้ ‘โอน’ ไม่ใช่ ‘การสละมรดก’ ซึ่ง ‘การโอน’ กำลังเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันอยู่ในแวดวงนักกฎหมายว่า จะช่วยทำให้ ‘พิธา’ พ้นจากพื้นที่สังหาร หรือจะยิ่งเป็นใบเสร็จที่มัดตัวเข้าไปอีก
.
โดยมีข้อสังเกตว่า เป็นการโอนเพื่อกรณีมีการโหวตนายกฯรอบแรกไม่ผ่าน ในครั้งนี้ต่อไปจะไม่ติดเรื่องนี้อีก เพราะได้โอนหุ้นไปแล้ว
.
แต่หากเป็นการ ‘สละมรดก’ ผลทางกฎหมายจะแตกต่างกัน เสมือนไม่เคยถือหุ้นตัวนี้
.
ขณะที่ ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ อดีต กกต. ให้ข้อสังเกตในเฟซบุ๊กว่า การโอนหุ้นภายหลังสมัคร ส.ส.ไปแล้ว มันไม่ส่งผลต่อรูปคดี เพราะหากการถือหุ้นผิดก็ยังคงผิด หากไม่ผิดก็คือไม่ผิด การขายหรือโอนหุ้นคล้ายยอมรับว่าน่าจะผิด จึงขายทิ้งหรือโอนก่อนเลือกนายกรัฐมนตรี
.
 เช่นเดียวกับจำนวนหุ้น แม้จะมีการอ้างว่า 42,000 หุ้นที่ ‘พิธา’ ถือ นับว่าน้อยนิด แต่อย่าลืมว่า ในเมื่อกฎหมายห้ามคือห้าม โดยมีกรณีศึกษาของ ‘สุรโชค ทิวากร’ อดีตว่าที่ ผู้สมัคร ส.ส.กาญจนบุรี เขต 2 พรรคไทยภักดี ที่ลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาล ตำบลหนองตากยา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ในช่วงเดือน ก.พ.64 ที่ถูกตัดสิทธิ์ในฐานความผิดลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งที่ตนเองมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากถือหุ้นในบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 หุ้น มูลค่า 5 บาท
.
ฉะนั้น แค่คลิปเสียงของผู้ถือหุ้นในวันนั้น ไม่ได้ทำให้ ‘พิธา’ ทางฉลุย
===