ชำแหละตัวเลขส.ส.เชิงลึก
"อนุทิน-อุ๊งอิ๊ง"คู่ชิงนายกฯ
ทัวร์ลงนิด้าโพล เพราะมีหลายจุดไม่ตอบโจทย์ความเป็นจริงทางการเมือง แต่เมื่อชำแหละตัวเลขทางการเมืองแล้ว พอจะเห็นโฉมหน้าว่าใครจะเป็นคู่ชิงนายกฯ
แม้โพลจะบอกว่า “อุ๊งอิ๊ง” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย 38.20% นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล 15.75% พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ 15.65% และนาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 1.55% ขณะที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพรรคพลังประชารัฐ ไม่ติดอันดับใดๆ ของโพล
ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตพรรคเพื่อไทย 49.75% พรรคก้าวไกล 17.40% พรรครวมไทยสร้างชาติ 11.75% พรรคประชาธิปัตย์ 5.40%พรรคไทยสร้างไทย 2.95% พรรคภูมิใจไทย 2.70% พรรคเสรีรวมไทย 2.60%ขณะที่ประขาชนส่วนหนึ่งยังไม่ตัดสินใจ 2.35% และพรรคพลังประชารัฐ รั้งท้าย 2.15%
โพลออกมาอาจทำให้ ติ่งพี่น้อง2 ป.ไม่พอใจ เพราะพล.อ.ประวิตร ไม่มีชื่อติดโพลนี้ ทั้งที่มีบ้านใหญ่อยู่ในสังกัดอยู่พอสมควร ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ในความเป็นจริง พรรค รทสช.จะได้ ส.ส.ถึง 25 คนหรือจะมาที่หนึ่งทางฝ่ายขั้วอนุรักษ์นิยมหรือไม่ยังเป็นคำถาม
แต่ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้คือ พรรคภท. โพลในแบบแบ่งเขต 2.7% ก็เท่ากับมี ส.ส. 11 คน เท่านั้นเอง
โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผอ.นิด้าโพล ออกมาชี้แจงว่า โพลที่ถามนั้นเป็นเรื่องของกระแส และ เป็นเพียงปัจจัย 1 ใน4 ที่จะชนะการเลือกตั้ง ดังนั้นหากพรรคการเมืองสามารถผลักดันปัจจัยอื่นๆที่เหลือประกอบด้วย นโยบาย, ตัวบุคคล , ทรัพยากรเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้สำเร็จ ก็จะชนะเลือกตั้งได้
ขณะที่ ซูเปอร์โพล (SUPER POLL)เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,061 ตัวอย่างเรื่อง ประเมินความเสี่ยง ความล้มเหลวการเมืองระหว่างวันที่ 15 – 18มีนาคม พ.ศ.2566พบว่า เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.7 ยังคงสนับสนุนรัฐบาลทำงานต่อ ในขณะที่ร้อยละ 34.2 ขออยู่ตรงกลางพลังเงียบ และร้อยละ 28.1 ไม่สนับสนุนรัฐบาล
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะกาบัตรให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใด (ถ้าเลือกได้) พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 39.0 ระบุ บัตร อุ๊งอิ๊ง (เพื่อไทย) ร้อยละ 21.9 ระบุบัตรอนุทิน (ภูมิใจไทย) ร้อยละ 13.9ระบุ บัตรจุรินทร์ (ประชาธิปัตย์) ร้อยละ 13.2 ระบุ บัตรลุงตู่ (รวมไทยสร้างชาติ) และร้อยละ 2.6 ระบุบัตรลุงป้อม(พลังประชารัฐ) ตามลำดับ
ทั้งนี้หากย้อนวิเคราะห์เชิงตัวเลขนิด้าโพลในแบบแบ่งเขต ให้ ภท. 2.7% ก็เท่ากับมี ส.ส. 11 คน ขอถามว่าจังหวัดบุรีรัมย์จังหวัดเดียวก็ 10 คนแล้ว ยังไม่รวมจังหวัดอุทัยธานีอีกสองคน แค่สองจังหวัดนี้ก็เกินโพลที่เขาทำแล้ว ยังไม่นับรวมทั้งบ้านใหญ่อื่นๆ อาทิ อ่างทอง อยุธยา กาญจนบุรี ระนอง สตูล ปราจีนบุรี พิจิตร ฯลฯ
มาถึงบัญชีรายชื่อ ก็ให้ ภท. แค่ 2.7 % ก็ได้ประมาณ 3 คน ยกตัวอย่างเมื่อ 10 ปีก่อนขนาดที่เพิ่งตั้งพรรคไม่มีอำนาจรัฐใดใดอยู่ในช่วงตั้งไข่ ยังมีส.ส. ตั้ง 6 คน เท่ากับว่าหากเชื่อตามโพลล์นี้ ภท จะมี ส.ส. 13 คน เท่านั้นหรือ?
ทั้งที่ตลอดการบริหาร4 ปีที่ผ่านมาภายใต้ความรับผิดชอบกระทรวงสาธารณสุข คมนาคม และ ท่องเที่ยวฯ มี ส.ส.ทยอยเดินเขาพรรคจำนวนมาก โดยเฉพาะนักการเมืองกลุ่มบ้านใหญ่ เล็งเห็นว่ามีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วยตัวเลข70 เสียงขึ้นไป
ฉะนั้นหากวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริงทางการเมือง พรรคที่จะเสนอนายกฯ ต้องมี ส.ส. 25 คน ดังนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวศ นายกรณ์ จาติกวณิช ก็หมดสิทธิ์ตัดออกไปได้เลย
ส่วนนายพิธา เป็นฝ่ายค้านโดยธรรมชาติของพรรคเพราะไม่มีใครร่วมงานด้วยหากยังหมกหมุ่นแก้มาตรา112
ซึ่ง"พรรคลุงตู่" ก็เล็กเกินไป และสุ่มเสียงไม่ถึง25 ที่นั่ง หรือ หากจะมากกว่าจะชนะ "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ตั้งเป้า 40-50 เสียง หรือไม่ หากไม่ชนะ "บิ๊กตู่" ก็ไม่สามารถขยับตัวได้ ถึงแม้จะอ้างว่ามี ส.ว. ก็คงจะโหวตฝืนความรู้สึกประชาชนคงลำบาก
พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. คงไม่มากกว่าเดิม หลังเลือดไหลอย่างหนัก ผู้นำก็ไม่เนื้อหอม เรียกว่าทรงอย่างแบด ไม่มีแรงพอที่จะดัน "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ขึ้นเป็นนายกฯได้
ดังนั้น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากการวิเคราะห์เชิงลึก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน คนเป็นนายกได้เหลือเพียงสองคนคือ "อุ๊งอิ๊ง" และ "อนุทิน" เท่านั้น
/_/_/_